มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

แนะวิธีเลี้ยงกระต่ายอย่างถูกต้อง

แนะวิธีเลี้ยงกระต่ายถูกวิธี เสริมมงคลรับปีเถาะ "ไม่ใช่แค่เลี้ยงง่าย แต่ต้องดูแลให้ดีที่สุด" (โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน)

            ปีนี้เป็น "ปีกระต่ายทอง" ปีมงคลที่คนจำนวนไม่น้อยนิยมมอบกระต่ายเป็นของฝากแก่กัน หลายคนเชื่อว่าจะเป็นสัตว์นำโชคและสามารถเสริมดวงเรื่องโชคลาภ ความรัก ความร่ำรวยได้ ทำให้แหล่งขายกระต่ายแทบทุกแห่งในปีนี้ยอดรายได้ทะยานลิ่วอย่างไม่น่าเชื่อ...

            สำหรับมือใหม่ที่อยากเลี้ยงกระต่าย อย่าคิดเพียงว่าเป็นแค่สัตว์เล็กที่เลี้ยงง่ายเท่านั้น ก่อนนำมาเลี้ยงควรพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่างประกอบด้วย เพราะกระต่ายต้องการการดูแลอย่างถูกวิธี อีกทั้งเรื่องความรับผิดชอบต่อชีวิตสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากทำให้เขาต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร หรือเบื่อแล้วปล่อยทิ้งขว้างไม่ไยดี คงไม่ใช่เป็นการเสริมดวงแต่จะสร้างบาปกรรมให้กับผู้เลี้ยงมากกว่า....

            วันนี้ สัตวแพทย์หญิง ลลนา เอกธรรมสิทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการสัตว์เลี้ยงพิเศษ (Exotic Pet) โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูกระต่ายอย่างถูกวิธีมาฝากว่า "นอกจากสุนัขและแมวแล้ว กระต่ายถือเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอันดับต้น ๆ ที่คนสนใจ สังเกตได้ว่ากลุ่มของคนเลี้ยงกระต่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน และรู้สึกดีที่เห็นคนหันมาเลี้ยงกระต่ายมากขึ้น ความจริงแล้วธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้อายุไม่ยืนนัก อายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี กระต่ายเป็นสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงยาก เลี้ยงได้เหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไป เพียงแต่ต้องทราบว่าเขาต้องการอาหารและสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่เหมาะสม"

            "ธรรมชาติของกระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แพร่พันธุ์ได้ง่ายและรวดเร็ว ออกลูกครอกหนึ่งประมาณ 6-10 ตัว ถ้าไม่ต้องการเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ก็ควรทำหมันเสีย ไม่เช่นนั้นภายในหนึ่งปีจะมีจำนวนมากทีเดียว กระต่ายเป็นสัตว์สุภาพ ชอบอยู่เงียบ ๆ เป็นฝูง อาหารส่วนใหญ่จะเป็นหญ้าและอาหารเม็ด

การเลี้ยงควรให้หญ้าสดและหญ้าแห้งเป็นอาหารหลัก เสริมผักและผลไม้เล็กน้อย การให้หญ้ามีประโยชน์กับกระต่ายมาก เพราะส่งผลต่อสุขภาพและการขับถ่าย ช่วยในการลับฟันตลอดจนป้องกันปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับฟัน นอกจากนี้ในฤดูฝนและหนาวกระต่ายจะเป็นหวัดและปอดบวมง่าย มีปัญหาเรื่องผิวหนัง ความอับชื้นและเชื้อรา ส่วนฤดูร้อนจะมีปัญหาเรื่อง Heat Stroke หรือการช็อคจากความร้อน เป็นต้น ดังนั้นจึงควรเอาใจใส่และดูแลเขาเป็นพิเศษในฤดูกาลต่าง ๆ "
            สัตวแพทย์สาว ยังกล่าวต่อด้วยว่า  ผู้เลี้ยงทั่วไปมักคิดว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ตายง่าย แค่ตกใจก็ตายแล้ว ความจริงก็ไม่ถึงขนาดนั้น แล้วแต่ตัวมากกว่า เคยมีกระต่ายหลายตัวที่มารับการรักษาทำแผลซึ่งเจ็บมาก แต่ก็ถึงกับไม่ช็อคตาย คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และลักษณะของภูมิอากาศ ณ จุด ๆ นั้นด้วย เพราะส่วนใหญ่กระต่ายจะช็อคได้ถ้าร้อนมาก ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าอาการช็อคหรือตกใจง่ายจนตายจะเป็นกับกระต่ายทุกตัวเสมอไป

            "อีกอย่างการหิ้วหูกระต่ายเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะบริเวณหูมีเส้นเลือดเยอะมาก หากไปหิ้วหูจะทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้นฉีกขาด หูจะช้ำ การจับที่ถูกต้องคือให้จับบริเวณหนังด้านท้ายทอยและช้อนก้นเพื่อช่วยรองรับน้ำหนัก ส่วนสถานที่เลี้ยงต้องไม่ร้อนจัด ไม่ชื้นแฉะ ลมไม่พัดแรง มีอากาศถ่ายเทสะดวก กรงต้องสะอาดและการให้อาหาร การเปลี่ยนน้ำต้องสะอาดเสมอ สิ่งสำคัญควรปล่อยให้กระต่ายได้วิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง จะทำให้เขามีอารมณ์เบิกบานแจ่มใสและไม่เหงาเกินไป"

            นอกจากนี้ การเลี้ยงกระต่ายควรต้องระวังโรคด้วย เพราะจะมีโรคทั้งที่คนติดจากสัตว์และโรคที่สัตว์เป็นแล้วไม่ติดคน  สำหรับโรคที่พบในกระต่ายส่วนใหญ่ จะมีโรคท้องเสียจากเชื้อบิด ซึ่งจะทำให้หูแดงคัน หรือบิดเบี้ยว โรคติดเชื้อราบริเวณฟันของกระต่าย ฯลฯ สำหรับคนก็สามารถเป็นภูมิแพ้ เช่นแพ้ขนกระต่าย เป็นต้น กรณีที่เลี้ยงกระต่ายร่วมกับสุนัขและแมวควรนำมาฉีดวีคซีนป้องกันพิษสุนขบ้าด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถทำได้เมื่อกระต่ายอายุ 4 เดือนขึ้นไป หากในบ้านมีเด็กและใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ

สิ่งที่ควรทำในการเลี้ยงกระต่าย

            1.ดูแลและสังเกตเป็นประจำ ถ้าเกิดความผิดปกติเพียงเล็กน้อยต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์

            2.ให้สัมผัสอย่างเบามือ

            3.ทำความความสะอาดบริเวณกรงอย่างสม่ำเสมอ

            4.ควรให้อาหารที่เหมาะสม

            5.ควรให้ถ่ายพยาธิหรือตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง

สิ่งที่ไม่ควรทำในการเลี้ยงกระต่าย

            1.อย่าหิ้วหูกระต่ายเด็ดขาด

            2.อย่าให้อาหารประเภทขนมที่เป็นแป้ง คาร์โบไฮเดรต เพราะจะเกิดผลเสียกับเขา 

            3.อย่าเลี้ยงกระต่ายเป็นแฟชั่น ให้เลี้ยงเพราะว่าอยากจะเลี้ยง

            4.อย่าอาบน้ำให้กระต่ายบ่อยเกินไป ประมาณ  3-4 เดือน/ครั้งก็พอ

            5.หากที่บ้านมีแมว ไม่ควรเอาห้องน้ำแมวที่มีสารดับกลิ่นมาใช้กับกระต่าย ควรใช้ขี้เลื่อยหรือหนังสือพิมพ์แทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น